วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วัดพระธรรมกาย สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ สร้างคนให้เป็นคนดี



จุดมุ่งหมายในการสร้างวัดโดยทั่วไป

จุดมุ่งหมายในการสร้างวัดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มด้วยความหวังผลด้านการปกครอง ซึ่งจอห์น ครอฟอร์ด ที่เข้ามาเมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ บันทึกความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับสถาบันการปกครองของไทยว่า "พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อระบบการปกครองประเทศอย่างมาก ไม่มีประเทศใดในโลกตามความคิดเห็นของข้าพเจ้าที่ศาสนาเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันมากเท่ากรุงสยาม"
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพยายาม ให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนา โดยทรงเปลี่ยนระบบการปกครองแบบเทวราชาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้เป็นพุทธราชามากขึ้น ตามพระราชดำริตอนหนึ่งว่า ...สัตว์โลกทุกวันนี้ ปฏิบัติผิดจากพระไตรสรณคมน์ จะไปสู่อบายภูมิ ๔ เสียเป็นอันมาก โดยกระแสพุทธฎีกาตรัสเทศนาไว้ว่า พระไตรสรณคมน์ที่เป็นยอดมงกุฎเกศต้นธรรมทั้งปวง ยากที่ทุกคนจะรักษาพระไตรสรณคมน์ให้บริสุทธิ์ได้ ด้วยเหตุว่า พระไตรสรณคมน์จะอยู่เป็นมั่นคงนั้น เพราะถือพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นเที่ยงแท้...

ผลพลอยได้จากการสร้างวัด ประการต่อมา คือ ทำให้วัดมีสภาพเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งด้าน อบรมจิตใจ การพักผ่อนหย่อนใจและที่สำคัญ คือ เป็นแหล่งการศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๓ ทรงส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ทรงมีรับสั่งให้ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนจารึกศิลามาติดไว้ที่วัด ซึ่งทำเป็นงานใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๗ - ๒๓๙๑ วัดที่ทรงสถาปนาให้เป็นแหล่งวิชาความรู้ มีอาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น วัตถุประสงค์ของการสร้างวัดที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อการอบรมใจเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแสดงความห่วงใยเรื่องเด็กไทยจะอยู่ห่างจากพระพุทธศาสนา ทรงมีพระราชดำริว่า
...การที่หัดให้รู้จักอ่านออกเขียนได้ ไม่ได้เป็นเครื่องหัดให้คนดีหรือชั่ว แต่เป็นวิธีการที่จะเรียบเรียงความดีความชั่วได้คล่องขึ้นเท่านั้น...
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงมีไปถึงกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑)
แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย
เพื่อเป็นการรับสนองพระราชดำริแห่งพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่ประเทศไทย และในท่ามกลางสภาวะทางสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นทุกวันนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันฟื้นฟูความเป็น ”วัด” ที่ดีกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุที่ปัญหาสังคมต่างๆ ล้วนแสดงถึงการขาดศีลธรรมของคนในสังคมเป็นประการสำคัญ ในฐานะที่วัดมีหน้าที่หลักในการสั่งสอนศีลธรรม ย่อมมีหน้าที่จะต้องพัฒนากระบวนการปลูกฝังและวิธีการเผยแผ่ธรรมะ ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับยุคสมัยให้มากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ พระภิกษุสงฆ์จำนวนกว่า ๓๐๐,๐๐๐ รูป และวัดต่างๆ กว่า ๓๐,๐๐๐ วัด ทั่วประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความพร้อม ในการชี้นำคุณงามความดีแก่ประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างสันติสุขและความสว่างไสวในทุกๆ ด้านแก่สังคมให้ได้ในที่สุด
ปัจจุบันมีผู้กล่าวกันมากว่า "คนไม่ค่อยเข้าวัด ผู้คนมีศีลธรรมน้อยลง" วัดพระธรรมกายมองปัญหานี้ในมุมกลับว่า "จริงๆ แล้วประชาชนอยากเข้าวัด แต่วัดยังไม่น่าเข้า เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ จะต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาปรับปรุงวัดให้น่าเข้า แล้วประชาชนก็จะหลั่งไหลเข้าวัดเอง" จากแนวคิดนี้ วัดพระธรรมกาย ได้แบ่งเขตพื้นที่เป็น เขตพุทธาวาส ที่ตั้งของโบสถ์ ประดิษฐานพระพุทธรูป เขตธัมมาวาส ที่แสดงธรรมอบรมประชาชน เขตสังฆาวาส ที่พักสงฆ์ อย่างเป็นสัดส่วนและได้พัฒนาวัดตามหลักปฏิรูปเทส ๔ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้
๑. อาวาสเป็นที่สบาย คือ การปรับปรุงสภาพทางภูมิศาสตร์ของวัดให้ดี ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น ดูแลวัดให้สะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อย
๒. อาหารเป็นที่สบาย คือ ดูแลอาหารการกินของญาติโยมที่มาวัดให้ดี ภัตตาหารที่ญาติโยมนำมาถวายพระ ก็ดูแลให้ดี ให้ความเคารพในทานของญาติโยม ภาชนะของเขาที่ใส่ภัตตาหารมาก็ทำความ สะอาดส่งคืนให้เรียบร้อย และรวมถึงการจัดระบบการบริหารการเงินให้รัดกุมด้วย
๓. บุคคลเป็นที่สบาย คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ศิษย์วัด จะต้องอบรมให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย สมเป็นคนวัด มีอัธยาศัยไมตรี ตอนรับญาติโยมที่มาวัดอย่างดี ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด และหมั่นศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ให้คนวัดเป็นแบบอย่างทางความประพฤติแก่ญาติโยมที่มาวัดได้
๔. ธรรมะเป็นที่สบาย คือ เมื่อประชาชนมาวัดแล้ว อย่าให้กลับบ้านมือเปล่า จะต้องได้เรียนรู้ธรรมะ ได้ข้อคิดกลับไปใช้ในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตได้ วัดจะต้องมีการอบรมสอนประชาชน ทั้งการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนา และการเทศน์สอนหลักธรรมต่างๆ
เมื่อได้พัฒนาวัดตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้นี้แล้ว เราพบว่า ทำให้ประชาชนเข้าวัดมากขึ้น เมื่อเขามาวัดแล้วสบายใจ ได้ประโยชน เขาก็บอกกันปากต่อปาก ทำให้คนมาวัดมากขึ้น วัดได้ทำหน้าที่หลักในการอบรมศีลธรรม สร้างคนดีให้เกิดขึ้นแก่สังคมอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
ผู้นำในการบุกเบิกสร้าง วัดพระธรรมกาย คือ คุณยายอาจารย์อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง, พระเดชพระคุณเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) และพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) โดยเริ่มต้นจากบ้านธรรมประสิทธิ์ ณ วัดปากนํ้า ภาษีเจริญ มาเป็นศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม และพัฒนาเป็นวัดพระธรรมกายในปัจจุบัน 

บ้านธรรมประสิทธิ์     

                  
ในบรรดาลูกศิษย์ที่ได้ฝึกฝนวิชชาธรรมกายกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) มานับสิบปี ท่านหนึ่ง คือ คุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ท่านปฏิบัติธรรมได้ผลดีมากจนได้รับคำชมเชยจากหลวงปู่วัดปากน้ำว่า “ลูกจันทร์นี้ เป็นหนึ่งไม่มีสอง” เมื่อหลวงปู่วัดปากน้ำมรณภาพแล้ว (วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๒) อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ยังคงปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ และให้ความเมตตาสอนธรรมะแก่ลูกศิษย์ทั้งหลายที่มาหาท่าน ได้อาศัยบ้านไม้สองชั้นหลังเล็กๆ ซึ่งสมัยนั้นเรียกกันว่า “บ้านธรรมประสิทธิ์” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบริเวณวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นที่ปฏิบัติธรรม
ในบรรดาลูกศิษย์จำนวนมาก มีนายไชยบูลย์ สุทธิผล (ปัจจุบัน คือ พระเทพญาณมหามุนี) ขณะนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้มาฝึกสมาธิกับคุณยายอาจารย์ทุกวัน ผลการปฏิบัติธรรมของท่านก้าวหน้ารวดเร็วกว่าลูกศิษย์ทั้งหลาย เนื่องจากมีความตั้งใจจริงและทุ่มเทปฏิบัติตามคำสั่งสอนของคุณยายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ชักชวน นายเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ (ปัจจุบัน คือ พระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษารุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน มาเรียนวิชชาธรรมกายกับคุณยายด้วย
ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม-วัดพระธรรมกาย

เมื่อนายไชยบูลย์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ได้สละเพศฆราวาสเข้าสู่การอุปสมบท อุทิศชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา และได้รับฉายาว่า “ธัมมชโย ภิกขุ” เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๒ ณ พระอุโบสถวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมี “พระเทพวรเวที” (ปัจจุบันเป็นที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระภิกษุธัมมชโยได้ทำหน้าที่สอนธรรมะแทนคุณยายที่บ้านธรรมประสิทธิ์ จนกระทั่งสาธุชนให้ความสนใจมาปฏิบัติธรรมกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนร้อย ทำให้บริเวณบ้านธรรมประสิทธิ์แน่นขนัด คนที่มาปฏิบัติธรรมล้นออกไปจนถึงถนนหน้าบ้าน ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งจึงปรึกษากับคุณยายอาจารย์ว่า ควรจะหาพื้นที่สักแห่งเพื่อสร้างวัดขึ้น อย่างน้อยประมาณ ๕๐ ไร่ เป็นสถานที่ไปมาสะดวก ไม่ห่างไกลตัวเมืองมากนัก และต้องมีบรรยากาศวิเวก สงบร่มรื่น ซึ่งต่อมาข่าวนี้ได้ทราบถึง คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ท่านได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินบริเวณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จำนวน ๑๙๖ ไร่ เพื่อสร้างวัดตามวัตถุประสงค์ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๑๒ (ปัจจุบัน คือ บริเวณพื้นที่วัดพระธรรมกาย ๑๙๖ ไร่)

ขณะก่อสร้างอยู่นั้น คณะผู้ก่อตั้งให้ชื่อว่า “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” ต่อมาเมื่อได้สร้างเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดวรณีธรรมกายาราม” และ ต่อมาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักธรรมปฏิบัติที่ทางวัดสอน จึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดพระธรรมกาย”
จุดประสงค์ในการสร้างวัดพระธรรมกาย
ความตั้งใจแน่วแน่ของคณะผู้บุกเบิกสร้างวัด คือ การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่ชาวโลก จึงมีแนวทางสำคัญ คือ
  • สร้างวัดให้เป็นวัด คือ เป็นวัดที่สะอาด สงบ ร่มรื่น เหมาะสมแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมของประชาชน
  • สร้างพระให้เป็นพระ คือ ฝึกอบรมพระภิกษุ ให้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร และคุณธรรมภายใน เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่ประชาชนได้
  • สร้างคนให้เป็นคนดี คือ สร้างคนดีมีศีลธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
ด้วยเหตุนี้ วัดพระธรรมกายจึงมุ่งเน้นการอบรมธรรมะทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ ให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนสาธุชนผู้สนใจศึกษาธรรมะทุกท่านตลอดมา รวมทั้งเน้นในเรื่องของความสะอาด ความสงบ ความร่มรื่น ร่มเย็น และมีนโยบายหลักในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เท่าที่จำเป็นต่อการใช้งาน ซึ่งเน้นความประหยัด ความประณีต คงทนถาวร และประโยชน์ในการใช้งานเป็นหลัก
หลักการของวัดพระธรรมกายมุ่งที่ศีลธรรม ไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น สรุปได้ว่า“วัด คือ โรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับ มหาชน” การฝึกคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ หากได้รับการสอนและการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ก็จะเป็นผู้รักศีลธรรม สนใจธรรมะ และจะช่วยดึงให้ห่างพ้นจากอบายมุขและยาเสพติด

การขยายพื้นที่รองรับสาธุชนของวัดพระธรรมกาย
ในขณะที่สร้างวัดควบคู่ไปกับการเผยแผ่ธรรมะนั้น เหล่าสาธุชนได้หลั่งไหลกันมาปฏิบัติธรรม เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จะมีสาธุชนมาวัดครั้งละประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ทำให้พื้นที่ในบริเวณวัดพระธรรมกาย ๑๙๖ ไร่ เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น มีสาธุชนกลุ่มหนึ่งได้เสนอความเห็นว่าทางวัดควรจะขยายพื้นที่ออกไปอีก เพื่อรองรับสาธุชนที่จะมาปฏิบัติธรรม เพิ่มขึ้นในวันข้างหน้า เมื่อคณะสงฆ์วัดพระธรรมกายเห็นสมควร จึงได้ปรึกษากับมูลนิธิธรรมกาย ดำเนินการติดต่อขอซื้อที่ดินบริเวณท้ายวัดในนามของมูลนิธิฯ ขยายออกไปอีกประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่เศษ โดยได้ รับบริจาคปัจจัยจากสาธุชนที่มีจิตศรัทธา ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา เพื่อให้ชาวพุทธ ทุกคนได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันในสถานที่อันสงบ ร่มรื่น และยังใช้ประโยชน์ในศาสนกิจของการคณะสงฆ์ได้อีกด้วย
พื้นที่ที่ขยายออกมา เริ่มใช้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยมีสาธุชนมาปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ.๒๕๔๒ มีสาธุชนมาปฏิบัติธรรมร่วมกันในวันสำคัญทางศาสนา ครั้งละกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ดำเนินการก่อสร้างศาสนสถานขึ้นตามความจำเป็นต่อการใช้งานมาโดยลำดับ และในขณะนี้กำลังก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เจดีย์แห่งพระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธทั่วโลก เพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกันในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นการตอกย้ำให้ชาวพุทธทุกคนเห็นว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งล้ำค่า ควรประพฤติปฏิบัติและช่วยกันหวงแหนรักษาไว้ ให้เป็นมรดกธรรมแก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

หมายเหต
วัดพระธรรมกาย เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยมี พระอธิการไชยบูลย์ ธัมมชโย (ปัจจุบันเป็นที่ พระเทพญาณมหามุนี) เป็นเจ้าอาวาส พระเผด็จ ทัตตชีโว (ปัจจุบันเป็นที่ พระภาวนาวิริยคุณ) เป็นรองเจ้าอาวาส
มูลนิธิธรรมกาย จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ เดิมใช้ชื่อว่า มูลนิธิธรรมประสิทธิ์ โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ณ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ เมื่อสร้างวัดพระธรรมกายเสร็จได้ขอแก้ไขเอกสาร เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิพระธรรมกาย” เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๕ ณ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี และเพื่อไม่ให้สับสนกับชื่อวัด จึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจาก "มูลนิธิพระธรรมกาย" เป็น “มูลนิธิธรรมกาย” โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตามหนังสือที่ ศธ ๑๓๐๔/๖๐๘๘ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘ 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Copyright © 2015 @วัดเอย>>>วัดพระธรรมกาย
| Distributed By Gooyaabi Templates